“เสาชิงช้า” เขามีไว้เพื่ออะไรกัน ปัจจุบันยังคงเหลือไว้เพียงแค่เสา ที่นี่มีคำตอบ

4081
views

เชื่อว่าหลายๆคนที่เคยผ่านไปแถว “เสาชิงช้า” คงจะเคยสงสัยกันใช่ไหมว่า เสาชิงช้าที่ตั้งอยู่สูงเด่นใหญ่โตขนาดนี้ เขาขึ้นไปโล้ ไปแกว่งได้อย่างไร แล้วพิธีนี้เข้ามีขึ้นเพื่ออะไร?  วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาสรุปให้อ่านกันสั้นๆ น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

พระราชพิธีตรียัมปวาย หรือ ตรียัมพวาย หรือที่ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “พิธีโล้ชิงช้า” เป็นพิธีหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงรัชการที่ 7 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยมั่นคง เงินในท้องพระคลังร่อยหลอลงเต็มที และการโล้ชิงช้าก็ต้องใช้เงินมาก ประกอบกับช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบดีนัก ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงได้ยกเลิกประเพณีการโล้ชิงช้าไปเสีย

พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่ เทวสถานพระอิศวรแล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวรพิธีโล้ ชิงช้า มีที่มาจากคัมภีร์ เฉลิมไตรภพซึ่งกล่าว ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้น พุทราที่แม่น้ำแล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัว โดยพระอิศวรทรงยืนขา เดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัวเท้าพระอิศวร นั้นไม่ตกลง แสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคง แข็งแรงพระอิศวรจึงทรงชนะพนัน

ส่วนพิธีโล้ชิงช้า ถือเป็นพิธีกรรมวันปีใหม่แบบโบราณของพราหมณ์ในดินแดนชมพูทวีป เชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรม ที่จัดขั้นเพื่อ เสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเชื่อกันว่าพระอิศวรเป็นเจ้า เสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ ปีละครั้งในเดือนยี่ ครั้งหนึ่งกำหนด 10 วัน คือจะลงมาในวันขึ้น 7 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เสด็จขึ้นกลับ คณะพราหมณ์จึงได้จัด พิธีต้อนรับขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว เพื่อความเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระนคร

คำอธิบายเรื่องพิธีโล้ชิงช้า ในเอกสารของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ว่า จัดแสดง ตำนานเทพเจ้าสร้างโลก โดยเสาทั้งสองข้างแทนภูเขาใหญ่ ผู้โล้ชิงช้าเป็นตัวแทนพญานาคมายื้อยุดทดสอบกำลังความแข็งแรงของโลก พระยายืนชิงช้าเป็นตัวแทนพระอิศวรมาเยี่ยมชมโลก และทดสอบความแข็งแรงโดยยืนขาข้างเดียว แต่พิธีนั้นให้พระยานั่งไขว่ห้างแทน

ลักษณะพิธี

“พระราชพิธีตรียัมปวาย” มีลักษณะคล้ายพิธีวิสาขบูชาในพระพุทธศาสนา เป็นพิธีใหญ่ของพระนคร พระราชพิธีจะเริ่มต้นจากการประกอบพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าของวันขึ้น 7 ค่ำ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 15 รูป ประกอบด้วยพระราชาคณะ 3 รูป พระพิธีธรรม 12 รูป รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ มีเครื่องไทยทาน สบง ร่มรองเท้า หมากพลู ธูปเทียน กระจาดข้าวเม่า ข้าวตอก เผือก เป็นต้น แต่ในบางครั้ง พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภารกิจ ก็โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ระดับชั้นพระยามาเป็นผู้แทนพระองค์ ( ซึ่งใช้ขุนนางชั้นพระยาพานทอง หรือ เทียบเท่าข้าราชการระดับ 11 ในปัจจุบัน )

โดยสมมุติว่าเป็นอิศวรผู้เป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก เรียกว่า พระยายืนชิงช้า แต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่า บ่าวขุน มีชายห้อยอยู่เบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุย ลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ ดังนั้นเมื่อถึงวันประกอบพระราชพิธีจึงต้องมีการจัดรั้วขบวนเกียรติยศ โดยมีพระยานั่งอยู่บนเสลี่ยงแห่ออกจากวัด ซึ่งแล้วแต่จะกำหนดว่าเป็นวัดใดมาตลอดทาง ตามด้วยขบวนของข้าราชการ กระทรวง กรม ต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดแต่งอย่างสวยงาม จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนเข้าสู่ ปะรำพิธี พระยาจะจุดเทียนชัยส่งไปบูชาที่เทวสถาน ต่อจากนั้น พระยายืนชิงช้าก็จะนั่งเป็นประธานดูนาลิวัน ( นักบวชพราหมณ์หนุ่มที่อายุระหว่าง 18-20 ปี และมีร่างกายแข็งแรง ) ขึ้นโล้ชิงช้าจนครบ ๓ กระดาน แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับเข้าวัดเป็นอันเสร็จพิธี และในวันสุดท้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับวันแรกทุกประการ 

เสาชิงช้าในปัจจุบัน
 “พิธีโล้ชิงช้า” ความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต!

ในอีกด้านก็มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า “พิธีโล้ชิงช้า” เป็นเหมือนความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนในอดีต กล่าวคือ เมื่อพระยายืนชิงช้า ไปถึงเสาชิงช้า ก็จะเข้าไปนั่งในโรงราชพิธี จากนั้นให้ผู้ที่จะโล้ชิงช้าขึ้นชิงช้าทีละ 4 คน (โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน มือสอดเชือกไว้ อีกสองคนอยู่หัวท้ายมีเชือกจับมั่นคง ถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง

ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น คนที่อยู่หัวกระดานเป็นคนฉวย โดยเงินนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ “ตีปีก” เชียร์กันอย่างสนุกสนาน

การโล้ชิงช้านี้สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮา จากคนดูได้

พราหมณ์โล้ชิงช้าแล้วก็ตกลงมาตายทุกปีเป็นที่น่าหวาดเสียวมาก แต่พวกเขาถือว่าได้บุญมากก็เลยไม่ค่อยกลัวตายกัน ต่อมาก็ทอนเสาให้สั้นลงก็ยังตกลงมาตายอีก ก็เลยต้องยกเลิกไปในที่สุด สำหรับเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ถ้าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูก “ฝัง” ไว้ที่ใต้ชิงช้านั้น เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีการตกหรือได้ฝังใครเลย และไม่มีตำราเล่มไหนบอกไว้ทั้งนั้น คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดๆ ติดมาจากการฝังหลักเมืองมากกว่า